Wednesday, June 8, 2016

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SCAMMER

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SCAMMER (ชาวผิวสีที่อ้างตัวเป็นชาวต่างชาติผิวขาว)

                                                                             ปัทมาภรณ์ กฤษณายุทธ  ศิริวัชรไพบูลย์[1]


ปัจจุบัน ที่พวก scammer (เป็นกลุ่มคนดำสัญชาติ ไนจีเรีย กานา คองโก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย)ได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook  Skype และ E-mail ในการหลอกลวงหญิงไทย หน้าในFacebookของพวก Scammer จะเป็นหน้าที่มีข้อมูลส่วนตัวค่อนข้างน้อย และรูปที่ปรากฏมักจะเอารูปบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นดารา นักธุรกิจ  หน้าตาดี ผิวขาว มาโพสต์ในFacebook  แล้วจะขอเข้ามาเป็นเพื่อนพร้อมทั้งเข้ามาพูดคุยสร้างความสนิทสนมและอ้างว่าเป็นวิศวกรทำงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ  คำถามที่พวก scammer มักจะถามเหยื่อก่อน นั่นคือ มีอายุเท่าไหร่  มีอาชีพอะไร   และเหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายคือ หญิงไทย วัยกลางคนมีอาชีพการงานดี  ส่วนใหญ่จะมีสถานภาพโสด  หย่าร้าง  สมรส  ตามลำดับ  เหยื่อเหล่านี้มักจะหลงเชื่อและโอนเงินให้ แต่ละรายสูญเงินตั้งแต่หลักแสน-หลักล้านบาท

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

1.พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 

มาตรา 14(1) 
ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ           (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 

2.ประมวลกฎหมายอาญา 

มาตรา 1  
(14)"บัตรอิเล็กทรอนิกส์"หมายความว่า

(ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอนไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษรตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใดทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

(ข) ข้อมูลรหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใดๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ 

(ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ 

(15) "หนังสือเดินทาง"หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใด ที่รัฐบาลไทยรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศและให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย"ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ 

มาตรา 269/5  
ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 269/6 
ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามมาตรา 269/5ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 269/7  
ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสดผู้กระทำ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง"

มาตรา 341 [1] 
“ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 342
ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ (1) แสดงตนเป็นคนอื่นหรือ (2) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็กหรืออาศัย ความอ่อนแอทางจิตของผู้ถูกหลอกลวง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

มาตรา 11
บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่าสถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 18
พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร
เพื่อการนี้ บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น

มาตรา 62
ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 หรือมาตรา 18 วรรคสองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

4. พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556

   มาตรา 3  
“องค์กรอาชญากรรม”  หมายความว่า  คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
“องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ”หมายความว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)    ความผิดที่กระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ

(2)    ความผิดที่กระทำในรัฐหนึ่ง แต่การตระเตรียม การวางแผน การสั่งการ การสนับสนุน หรือการควบคุมการกระทำความผิดได้กระทำในอีกรัฐหนึ่ง
(3)    ความผิดที่กระทำในรัฐหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดมากกว่าหนึ่งรัฐ

(4)    ความผิดที่กระทำในรัฐหนึ่ง แต่ผลของการกระทำที่สำคัญเกิดขึ้นในอีกรัฐหนึ่ง

  มาตรา5 ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)เป็นสมาชิกหรือเป็นเครือข่ายดำเนินงานขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

(2)สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

(3)มีส่วนร่วมกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมหรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว

(4)จัดการ สั่งการ ช่วยเหลือ ยุยง อำนวยความสะดวก หรือให้คำปรึกษาในการกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรม หรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

มาตรา6 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา5 นอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษใน ราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

             ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ความหมายของอาชญากรข้ามชาติ       

  อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกำหนดคำนิยามและความหมายของคำว่า “องค์กรอาชญากรรม” ไว้ว่า
กลุ่มองค์กรอาชญากรรม (organized criminal group) หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และตั้งมาเป็นระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำความผิดร้ายแรงตั้งแต่หนึ่งฐานความผิดขึ้นไป  หรือความผิดที่กำหนดไว้ (established) ในอนุสัญญานี้เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทางการเงินหรือประโยชน์ทางทรัพย์สินอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

          อาชญากรรมร้ายแรง นั้น อนุสัญญาฯ ระบุว่า “การกระทำความผิดซึ่งสามารถลงโทษโดยการจำกัดอิสรภาพซึ่งมีอัตราขั้นสูงเป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปี หรือโดยโทษที่หนักกว่านั้น”

          อาชญากรรมข้ามชาติ ในข้อ 3 ของอนุสัญญาฯ ซึ่งว่าด้วย “ขอบเขตการใช้บังคับ” ระบุไว้ชัดเจนว่า ลักษณะความผิดต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ หาก

1. ความผิดนั้นกระทำลงในประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศ
2. ความผิดนั้นกระทำลงในประเทศหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญของการตระเตรียมการการวางแผน การสั่งการ หรือ  การควบคุม  ได้กระทำในอีกประเทศหนึ่ง
3. ความผิดนั้นกระทำลงในประเทศหนึ่ง แต่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำ     ความผิดทางอาญาในอาณาเขตของประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศ หรือ
4. ความผิดนั้นกระทำลงในประเทศหนึ่งแต่มีผลกระทบที่สำคัญเกิดขึ้นในอีกประเทศหนึ่ง





ในระดับสากลนั้น องค์การสหประชาชาติได้จำแนกประเภทของอาชญากรรมข้ามชาติไว้ 10 ประเภท ได้แก่[1]
          1.การลักลอบค้ายาเสพติด (ILLICIT TRAFFICKING IN DRUGS)
          2.การหลบหนีเข้าเมือง (SMUGGLING OF ILLEGAL MIGRANTS)
          3.การค้าอาวุธ  (ARMS TRAFFICKING)
          4.การลักลอบค้าอุปกรณ์นิวเคลียร์ (TRAFFICKING IN NUCLEAR MATERIAL)
          5.กลุ่มองค์การอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย (TRASNATIONAL CRIMINAL ORGANIZATION AND TERRORISM)
          6.การค้าหญิงและเด็ก (TRAFFICKING IN WOMEN AND CHILDREN)
          7.การลักลอบค้าอวัยวะของมนุษย์( TRAFFICKING IN BODY PARTS)
          8.การโจรกรรมและลักลอบค้ายานพาหนะ (THEFT AND SMUGGLING OF VEHICLES )
          9.การฟอกเงิน (MONEY LAUNGERING)
          10.การกระทำผิดอื่นใด (OTHER ACTIVITIES) ที่มีลักษณะตามคำนิยามของอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การติดสินบนเจ้าพนักงานหรือข้าราชการของรัฐ  อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม อาชญากรรมด้านละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การฉ้อโกงประชาชนข้ามประเทศ ฯลฯ

การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเข้ากับองค์ประกอบความผิดของกฎหมาย

การหลอกลวงของชาวผิวสีมีหลากลายพฤติการณ์ หลากลายเรื่องราว ซึ่งแต่ละเรื่องราวสามารถนำมาปรับใช้กับข้อหา (บทกฎหมาย)แตกต่างกันซึ่งผู้เขียนจะนำมาวิเคราะห์ในแต่ละกรณี

พฤติการณ์การกระทำความผิดของกลุ่มคนร้ายซึ่งเบื้องหลังเป็นชายผิวสี แต่โชว์รูปเป็นชายผิวขาว(SCAMMER) ได้ร่วมกันทำการหลอกลวงหญิงไทย โดยทำทีเข้ามาตีสนิทขอเป็นเพื่อนใน Facebook โดยมีการแอบอ้างตนเองเป็นชาวผิวขาว มาจากประเทศแถบยุโรป หรืออเมริกา ได้นำภาพชายผิวขาวหน้าตาดี ใส่ไว้ในFacebook ของตนเองและอ้างว่าเป็นตนเอง เมื่อได้เข้ามาขอเป็นเพื่อนพูดคุยทำความสนิทสนมจนคุ้นเคยกันในระยะหนึ่งเพื่อให้กลุ่มผู้เสียหายที่เป็นเหยื่อตายใจว่าเป็นความจริง และได้มีการอ้างว่าตนเองเป็นนักธุรกิจ มีฐานะมั่นคง ร่ำรวย ทำการค้ารถบ้าง ได้เดินทางมายังประเทศมาเลเซีย เพื่อซื้อรถให้กับลูกค้าแต่ติดขัดเรื่องเงินเพียงเล็กน้อย ได้หลอกลวงโดยการขอยืมเงินที่ขาดอยู่เพียงจำนวนไม่มากในครั้งแรก กลุ่มผู้เสียหายเห็นว่ารู้จักสนิทสนมกันจึงโอนเงินให้ไปเข้าบัญชีธนาคารตามที่กลุ่มผู้ต้องหาแจ้งมา จากนั้นกลุ่มผู้ต้องหาจะสร้างเหตุต่อเนื่องมาอีกว่าจำเป็นจะต้องใช้เงินอีก ได้ขอร้องให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ตนระบุไว้มาให้อีก และจะพูดรับรองว่าเงินดังกล่าวจะรีบคืนให้ทันทีเมื่อกลับถึงประเทศตนเพื่อให้ผู้เสียหายสบายใจจนหลงเชื่อโอนเงินไปให้อีกจำนวนหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายจะอ้างว่าตนเองได้เดินทางกลับประเทศของตนได้แล้วและได้ส่งของขวัญที่มีค่ามาให้ทางพัสดุเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจผู้เสียหาย ภายในกล่องพัสดุจะอ้างว่ามีทรัพย์สิน
ราคาแพง เช่นโทรศัพท์ไอโฟน 5 เครื่องเพชร เงินสดจำนวนมาก และของมีค่าอีกหลายรายการ ส่งมายังที่อยู่ของผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นจริงได้ส่งสำเนาเอกสารที่จัดส่งพัสดุมาให้เป็นเครื่องยืนยัน  ต่อมาหลังจากนั้นจะมีหญิงไทยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรบ้าง เจ้าหน้าที่จัดส่งสินค้าบ้าง ได้โทรศัพท์มาหาผู้เสียหายโดยอ้างว่ามีพัสดุมาตกค้างอยู่ที่ตนได้ทำการสแกนตรวจสอบแล้วเป็นทรัพย์สินที่มีค่าตรงตามรายการที่กลุ่มผู้ต้องหาที่แอบอ้างตนเองเข้ามาเป็นเพื่อนผู้เสียหายได้หลอกลวงไว้ทุกอย่าง แต่อ้างว่าพัสดุดังกล่าวมีมูลค่ามากจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการนำพัสดุออก จึงหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีโดยระบุชื่อบัญชี ธนาคารและหมายเลขบัญชีมาให้ผู้เสียหายเพื่อโอนเงินเข้าให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นจริงจึงได้โอนเงินให้ไปอีก ผู้เสียหายได้ติดตามทวงถาม กลุ่มผู้ต้องหาได้บ่ายเบี่ยงจากนั้นก็เลิกการติดต่อกับกลุ่มผู้เสียหายไปไม่สามารถติดตามตัวได้อีก จากการสืบสวนพบว่ามีหญิงไทยได้ตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายจำนวนมาก และต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนรวมกันหลายสิบล้านบาทถึงกว่าร้อยล้านบาท นับว่าเป็นความสูญเสียและเสียหายในวงกว้าง กลุ่มผู้กระทำความผิดได้ใจได้หลอกเหยื่อตลอดเวลาและเป็นการยากแก่การจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทเนื่องจากผู้กระทำความผิดอาจอยู่ต่างประเทศบ้างหรือในประเทศบ้างแต่ไม่อาจทราบว่าเป็นผู้ใด เนื่องจากผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิดไม่เคยเห็นหน้ากันเลยเป็นเพียงการติดต่อกันผ่านทาง E-mail ทาง Skype ทางFacebook เท่านั้น ผู้เสียหายจึงไม่อาจสามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิด พฤติการณ์ในการหลอกลวงเป็นการกระทำโดยการวางแผนการณ์ที่แนบเนียน ยากต่อการหาพยานหลักฐาน โดยพฤติการณ์และการกระทำของกลุ่มผู้ต้องหาเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อทรัพย์โดยการฉ้อโกงทรัพย์ผู้อื่น ทุจริตโดยการหลอกลวงเหยื่อหรือผู้เสียหายให้หลงเชื่อ ได้มีการกระทำกันเป็นขบวนการ มีการวางแผนการณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างแยบยล และแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขั้นตอน เช่นคนหนึ่งหรือหลายคนจะเข้ามาหาเหยื่อหรือผู้เสียหายในFacebook โดยมีการนำภาพชายชาวต่างชาติผิวขาวมาลงบน Facebook ของตนและแอบอ้างว่าเป็นตนเองโดยการปลอมชื่อและข้อมูลส่วนตัวไว้ จากนั้นก็ทำหน้าที่ทำทีเข้ามาตีสนิทกับหญิงไทยที่ใช้ Facebook ข้อมูลส่วนตัวที่เป็นจริงไว้โดยขอเป็นเพื่อนพูดคุยกันทาง Facebook บ้าง ทางโทรศัพท์บ้าง หรือทาง skype บ้าง  เป็นต้น ในระยะแรกๆ ก็เป็นการติดต่อพูดคุยกันธรรมดา แกล้งเข้ามาพูดชมบ้าง และจะคุยว่าตนเองทำธุรกิจ มีความมั่นคงทางการเงิน ใช้เวลาสักระยะหนึ่งจนเกิดความคุ้นเคยและสนิทสนมกัน บางครั้งอ้างว่าตนเป็นหม้ายบ้างอยากจะมาอยู่เมืองไทย พูดจาในทำนองชู้สาว อยากแต่งงานกันผู้เสียหายบ้าง เป็นต้น ส่วนผู้ต้องหาอีกกลุ่มมีหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคารซึ่งจะเป็นบัญชีของบุคคลอื่นซึ่งเป็นคนไทยโดยอาจเป็นการจ้างวานให้เปิดบัญชีบ้าง หรือขอร้องหญิงไทยซึ่งเป็นภรรยาของตนเองให้เปิดบัญชีให้พร้อมบัตรเอทีเอ็มโดยอ้างว่าตนเองทำการค้าส่งสินค้าออกไปยังประเทศตนเองไม่สะดวกในการเปิดบัญชีและโอนเงินในเมืองไทย หรือตนเองได้นำพาสปอร์ตของตนเองไปทำการเปิดบัญชีกับธนาคารบ้าง หรือมีการปลอมพาสปอร์ตนำไปใช้เปิดบัญชีโดยใช้ชื่ออื่นเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามร่องรอยหรือเบาะแสของตนเองได้


กรณีศึกษาที่ 1. กรณีที่มีการอ้างตนเป็นชาวต่างชาติผิวขาว พูดคุยหลอกลวงเหยื่อผ่านทางโซเชียลมีเดียแล้วเหยื่อได้มีการโอนเงินให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพนั้น

กรณีนี้ชาวต่างชาติที่พูดคุยผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook  Line  Baadoo  เป็นต้น แล้วได้ใช้ถ้อยคำ เรื่องราวหลอกลวงต่างๆให้เหยื่อหลงเชื่อแล้ว โอนเงินไปยังบัญชีมากกว่า1 บัญชี พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 14(1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

นอกจากนี้การหลอกลวงด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรบอกให้แจ้ง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม กล่าวคือการหลอกลวงนั้นหากเหยื่อได้โอนเงินไปยังบัญชีที่มิจฉาชีพกำหนด แม้จะเป็นการยินยอมให้ยืม ซึ่งข้อมูลจูงใจให้มีการการยินยอมนั้นมาจากข้อความอันเป็นเท็จ ภาพถ่ายที่นำมาใช้นั้นยังเป็นภาพของบุคคลอื่นซึ่งเป็นความผิดเท็จทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จ ตามมาตรา 342(1)ประมวลกฎหมายอาญา ส่วนกรณีที่ถูกหลอกลวงให้โอนเงินแล้ว แต่ไม่มีเงินโอนให้ หรือด้วยเหตุกรณีอื่นใด จึงเป็นความผิดฐานพยายามฉ้อโกง ตามมาตรา342(1)  ประกอบมาตรา 80 ประมวลกฎหมายอาญา

      ความผิดลักษณะนี้มีผู้ร่วมกระบวนการหลายคน มักจะอ้างตัวเป็นพนักงานธนาคาร  พนักงานบริษัทขนส่ง แพทย์ ตำรวจ ศุลกากร จึงเป็นการกระทำผิดเป็นกระบวนการ และมีการประสานงานกันระหว่างกลุ่มมิจฉาชีพในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย จึงเป็นลักษณะของอาชญากรรมข้ามชาติ อันเป็นความผิดกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556

      จากที่กล่าวมาข้างต้นมิจฉาชีพ ร่วมกันทำเป็นกระบวนการโดยมีการมอบหมายงานให้แต่ละคนดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบ จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานนำเข้าการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นและมีความผิดฐานปมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

กรณีศึกษาที่ 2.กรณีที่กลุ่มมิจฉาชีพ ได้ว่าจ้างหรือเข้ามาตีสนิท เพื่อขอให้เหยื่อเปิดบัญชีให้พร้อมบัตรเอทีเอ็ม แล้วนำไปใช้ในการกระทำความผิดต่อไป

พฤติการณ์กระทำความผิดแบบนี้ เริ่มมีการหาเพื่อนทางโซเชียลมีเดีย  เช่น facebook  line  Baadoo  โดยจะใช้รูปภาพ หน้าตาจริงในการพูดคุยผ่านโซเชียลมีเดีย  แสดงตนเป็นชาวผิวสี (ชาวแอฟริกา) มักคุยกับเหยื่อ(หญิงไทย)ในลักษณะของชายจีบหญิง จากนั้นเมื่อเหยื่อตกลงคบหาเป็นแฟนแล้ว ก็จะใช้ความสนิทสนมให้เหยื่อเปิดบัญชีให้ โดยอ้างว่าได้ทำธุรกิจขายเสื้อผ้า ขายปลาแห้ง ส่งออกไปยังต่างประเทศ,อ้างว่ามีญาติจากแอฟริกาโอนเงินมาให้ , อ้างว่ามีลูกค้าโอนเงินมาให้ แต่ไม่มีบัญชี เป็นต้น

เมื่อเหยื่อหลงเชื่อเปิดบัญชีให้ ก็จะมอบบัตรเอทีเอ็ม พร้อมสมุดบัญชีให้ใช้เพื่อดำเนินธุรกรรมตามที่กล่าวอ้าง ต่อมาชาวผิวสี ก็จะใช้บัญชีเหล่านี้ไปหลอกลวงหญิงไทยคนอื่นๆ เช่น การหลอกลวงในลักษณะ Romance scam  หลอกลวงเรื่องจัดหางานที่ต่างประเทศ หลอกลวงเหยื่อทางอีเมล์ (FAKE E-MAIL) เป็นต้น  การที่เหยื่อยินยอมมอบบัตรเอทีเอ็ม พร้อมสมุดบัญชี ให้ใช้เพื่อดำเนินธุรกิจ หรือกิจการอื่นอันมิใช่การหลอกลวง เมื่อชาวผิวสี ได้นำไปใช้เพื่อการหลอกลวงจึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ มีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 269/5 269/6 และ 269/7 ประมวลกฎหมายอาญา
หากชาวผิวสีเหล่านั้น ได้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ได้อยู่เกินกำหนดระยะเวลา โดยมิได้ทำการขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทย จึงเป็นความผิดฐานเข้าเมืองและพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย ตาม มาตรา 11,18และ62 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

กรณีศึกษาที่ 3.กรณีกลุ่มมิจฉาชีพ ได้ขอยืมบัญชีของเหยื่อเป็นครั้งคราว กล่าวคือ ยืมบัญชีเพื่อรับเงินที่โอนเข้ามา เมื่อเงินโอนเข้ามาในบัญชีแล้ว ก็จะให้เหยื่อไปเป็นผู้ถอนเงินจากบัตรเอทีเอ็ม หรือ ถอนเงินจากหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร โดยเหยื่อได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นหลักพันบาท

พฤติการณ์กระทำความผิดแบบนี้ จะเริ่มหาเพื่อนที่เป็นหญิงไทย หรือบุคคลใกล้ชิดที่เป็นคนไทย ทางโซเชียลมีเดีย  เช่น Facebook  Line  Baadoo  หรือโดยการพบเจอ เมื่อเริ่มสนิทสนมกับเหยื่อจะขอยืมบัญชีของเหยื่อเป็นครั้งคราว มักอ้างว่าได้ทำธุรกิจขายเสื้อผ้า ขายปลาแห้ง ส่งออกไปยังต่างประเทศ,อ้างว่ามีญาติจากแอฟริกาโอนเงินมาให้ , อ้างว่ามีลูกค้าโอนเงินมาให้ แต่ไม่มีบัญชี เป็นต้น เมื่อมีเงินโอนเข้ามาในบัญชี ก็จะให้เหยื่อไปเป็นผู้ถอนเงินจากบัตรเอทีเอ็ม หรือ ถอนเงินจากหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร และจะให้เงินเหยื่อเป็นค่าใช้บัญชีเป็นหลักพัน กรณีเช่นนี้หากเหยื่อล่วงรู้ถึงที่มาของเงินเหล่านี้ว่ามาจากการหลอกลวง การกระทำของเหยื่อจึงเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แต่หากเหยื่อไม่ทราบถึงเจตนาที่แท้จริงของการใช้บัญชีเพื่อกระทำความผิด การกระทำของเหยื่อจะเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำความผิด (Innocent Agent ) โดยที่ชาวผิวสีเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด


CR: https://www.facebook.com/notes/ภัยผู้หญิง-ในโลกออนไลน์/